คำว่า “สังคม” ที่จริงแล้วกินความหมายกว้างไกลพอสมควร ยิ่งเป็นครูสังคมด้วยแล้วยิ่งต้องรู้รอบด้าน ปรับตัวให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน มิฉะนั้น อาจตามไม่ทันเด็กๆ ในยุค 4.0 ครูรุวจี บุญมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมเป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามปรับตัว ปรับแนวทางการสอนให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนปัญญาวรคุณ เพราะตัวท่านเองผ่านการเรียนมาในแบบ “ยุคเก่า” ทว่าต้องมาสอนเด็ก “ยุคใหม่” ความท้าทายตรงนี้ครูหลายท่านคงเข้าใจดีถึงบริบทยุคสมัยที่โซเชียลฯ เข้าครอบงำเด็กอย่างเบ็ดเสร็จ แนวทางในการดูแลนักเรียนสมัยใหม่จะเป็นอย่างไร ครูรุวจีสะท้อนมุมมองผ่านบทสัมภาษณ์นี้เรียบร้อยแล้ว
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5 คำ 5 ข้อที่พ่อสอน ยกตัวอย่าง วันนี้ฝนตก เดินทางมาโรงเรียนยังไงถึงจะไม่เปียก สอนเขาว่าให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ เมื่อเรามีความรู้ว่าพรุ่งนี้ฝนจะตก เราก็จะวางแผนเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝน เมื่อฝนตกเราก็ไม่เปียก สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง แก้ปัญหาการมาโรงเรียนสาย เพราะถ้าฝนตกเราควรออกจากบ้านเช้ากว่าเดิม เป็นต้น
ทำไมถึงเลือกอาชีพครู?
"ครูเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีพี่น้อง 3 คน เราเป็นคนกลาง จบจากโรงเรียนชุมชนบ้านสีแก้วจังหวัดร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด แผนการเรียนวิทย์-คณิต เพราะพ่อแม่อยากให้เป็นพยาบาล รับราชการ แต่ว่าเรียนไม่เก่งสอบไม่ติด เอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็มานั่งคิดว่าเราจะเรียนอะไรดี ช่วงที่เรียนมัธยมเราชอบวิชาสังคมเรียนสังคมแล้วได้เกรด 4 ก็เลยไปเรียนครูเพราะคิดว่าครูน่าจะเหมาะกับเรา เรียนที่วิทยาลัยครูมหาสารคาม เอกสังคมศึกษาเรียนจบ 4 ปี สอบบรรจุรับราชการครูครั้งแรกที่จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 1 มิถุนายน 2537
"ที่อยากเป็นครูเพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและเป็นอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและครอบครัว ได้ช่วยเหลือคนอื่นโดยการสอนให้เขามีความรู้ สอนให้เขาเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม และได้เป็นข้าราชการตามที่พ่อแม่ ต้องการ ปัจจุบันสอนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนปัญญาวรคุณค่ะ"
ตอนนี้ครูรับหน้าที่อะไรอยู่บ้าง?
"หน้าที่หลักคือการสอนหน้าพิเศษทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารวิชาการ แล้วก็กิจกรรมของศูนย์ครอบครัวพอเพียงโรงเรียนปัญญาวรคุณ กิจกรรมภายนอกกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียง"
ในฐานะที่เป็นครูสังคมมีแนวทางอย่างไรในการดูแลพัฒนาเด็ก?
"ยุคไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันเด็กพึ่งวัตถุมากเกินไปครูจึงเน้นเรื่องคุณธรรม-จริยธรรมให้กับเด็ก ถามว่ายากไหม ถ้าเด็กที่เขาตั้งใจเรียนเขาก็ประพฤติตนดีอยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างในบางคนที่พ่อแม่เขาต้องดิ้นรนทำงานเลี้ยงครอบครัว แล้วฝากลูกไว้กับบ้าน เลิกเรียนกลับบ้านพ่อแม่ยังไม่กลับ ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปคุยกับใคร ก็อาศัยโทรศัพท์มือถือเป็นเพื่อนแก้เหงา เล่นทุกวันจนติด เมื่อมาโรงเรียนก็จะไม่สนใจเรียน ครูใช้วิธีการแก้ไขโดยการพูดคุยชี้แนะให้เห็นข้อดีข้อเสียของการติดโทรศัพท์มือถือ เขาจะค่อยปรับตัวมีพฤติกรรมในทางบวกมากขึ้น
"ครูยึดหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนจำได้ว่าที่บ้านมีทีวีเครื่องแรก พ่อและแม่จะพาเรานั่งดูข่าวในพระราชสำนักทุกวัน เราก็จะเห็นภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นการปลูกฝังที่ดีให้กับเราด้วย แต่ว่าเด็กรุ่นหลังไม่ค่อยได้สนใจดูข่าวพระราชสำนัก ในฐานะครูสังคมก็จะคอยบอกเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผ่านสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับและนำหลักคำสอนที่ดีๆ มาปฏิบัติ"
สังคมทุกวันนี้เปลี่ยนเร็วมากครูมีการปรับตัวอย่างไร?
"ต้องปรับตัวให้รอบรู้ ศึกษาสภาวะสังคมว่าไปในทิศทางไหน อย่างสื่อไอทีเมื่อก่อนครูใช้ไม่คล่องก็ต้องปรับตัวเองศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้สามารถใช้ได้ ครูก็ต้องติดตามข่าวสารข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วก็พยายามหาความรู้ให้กับตนเองเพื่อที่พัฒนาตนเองให้ทันโลกทันเหตุการณ์ ยิ่งเป็นครูสังคมยิ่งต้องรอบรู้ รอบครอบ ระมัดระวัง ในการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารกับนักเรียน ปรับตัวเองให้ทันสมัยทั้งด้านบุคลิกภาพ การแต่งกายเพราะเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่งที่นักเรียนสนใจ ศึกษาข้อมูลสิ่งที่วัยรุ่นปัจจุบันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพื่อนำมาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนจะได้สนใจเรียนและเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น"
ครูให้คำแนะนำกับเด็กยังไงเวลาเขามีปัญหาส่วนตัว และเลือกที่จะมาปรึกษาเรา?
"มีเคสหนึ่ง น้องเขามีปัญหาครอบครัวคือพ่อป่วยเป็นวัณโรคค่อยข้างรุนแรง ไม่สามารถออกไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ ตัวน้องเขาก็ติดเชื้อแต่ไม่รุนแรง ขาดทุนการศึกษา แม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ แต่ได้เงินส่งมาให้ไม่มากนัก แรกๆ ครูก็ไม่รู้ สังเกตพฤติกรรมดูเศร้าๆ ก็เรียกมามาพูดคุย ค่อยๆ พูดให้เขาเชื่อใจและไว้ใจ เมื่อน้องเขาเชื่อใจเขาก็จะเล่าเรื่องราวที่เป็นปัญหาของเขาให้เราฟัง ครูก็ให้กำลังใจเขาว่าทุกคนเกิดมาต้องมีปัญหาแต่เราต้องสู้แล้วอดทน นำเขาไปตรวจร่างกายให้ละเอียด คุณหมอให้พักการเรียนไปช่วงหนึ่ง น้องเขาก็น่ารักนะ อดทน สามารถรักษาตนเองให้กลับมาเรียนได้ ช่วงแรกจะลาออกถอดใจ ครูก็ยกพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ให้เขาฟังว่าอย่าท้อ ให้เขาเพียรพยายามถ้าเราตั้งใจเราต้องประสบผลสำเร็จไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนรังเกียจ ถ้าเราทำดีไม่มีใครจะมาทำอะไรเราได้ เขาก็อยู่ได้ เขาเข้มแข็งขึ้นตอนนี้ยังเรียนอยู่ ม.5 อาการเป็นปกติแล้วเหลือแต่พ่อที่ยังไม่หายดีค่ะ"
ครูทำยังไงให้เขา (เด็กมีปัญหา) กล้าเปิดใจ?
"ตอนแรกน้องเขาก็ยังอายอยู่เราใช้ความสนิทสนมไม่ใช่ครูกับนักเรียน แต่เป็นครูเป็นแม่คนที่สอง เป็นเพื่อนที่รู้ใจเขา สามารถคุยได้ทุกเรื่อง น้องเขาก็เลยยอมเปิดใจว่าหนูมีปัญหาเรื่องพ่อ เขาร้องไห้ ครูจะพูดให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือเท่าที่เราสามารถช่วยได้ พอเขามีอะไรเขาก็มาปรึกษา นักเรียนทุกวันนี้ถ้าเราทำตัวเป็นเพื่อนให้คำปรึกษาเขาได้เขาจะไว้วางใจและเข้าหาเรา เราให้ใจและจริงใจกับเขาแล้วเขาก็เข้ามาปรึกษากับเราทุกเรื่องค่ะ"
เท่าที่สัมผัสเด็กมาตอนนี้อะไรเป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุด ?
"เรื่องการใช้สื่อโซเชียล ติดโทรศัพท์มือถือไม่สนใจเรื่องตำราเรียน เขาจะสนใจโทรศัพท์มากกว่า ไปเชื่อโทรศัพท์ไม่เชื่อพ่อแม่ไม่เชื่อครู ครูเป็นห่วงเพราะว่าตอนนี้โซเชียลทำเด็กเสียเยอะคือเขาใช้ไม่ถูกทางเป็นห่วงมากค่ะ ไม่เหมือนตอนที่ครูเรียน สมัยที่ครูเรียนพออาจารย์ให้งานจะเข้าห้องสมุดอ่านหนังสือค้นคว้าตำราเรียน แต่เดี๋ยวนี้เด็กบางคนแทบไม่เปิดหนังสืออ่านเลย โรงเรียนให้หนังสือยืมเรียนไปบางทีกลับมายังใหม่ๆ ไม่เคยจับเพราะว่าใช้หนังสือไม่เป็น ควรช่วยกันณรงค์แก้ไขให้เร็วที่สุดค่ะ"
ความยากง่ายในการดูแลเด็ก จากเมื่อก่อนเด็กไม่มีโทรศัพท์กับตอนนี้ แตกต่างกันมากไหม?
"เมื่อก่อนเด็กเขาจะตั้งใจเรียนคะแนนดีแล้วมีคุณธรรม-จริยธรรม มีวินัย แล้วก็อ่านหนังสือเข้าห้องสมุด ศึกษาค้นคว้าตำราเรียน ทุกวันนี้เปลี่ยนไปคนละแบบ ใช้สื่อเทคโนโลยีในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการทำงาน การเรียน ต่างกันค่ะ โทรศัพท์ให้ทั้งประโยชน์และโทษ คนที่ใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์ในทางที่ดีก็จะประสบผลสำเร็จในการเรียนและการหาความรู้ แต่ใช้ในทางที่ผิดก็จะเกิดโทษกับตัวเรา ความแตกต่างอยู่ที่เราไม่สามารถควบคุมข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียนได้ ไม่รู้ว่าเด็กเขาเล่นอะไร ดูอะไรบ้าง นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากเมื่อก่อนค่ะ"
ในส่วนสำคัญของครูสังคมเราจำเป็นต้องแทรกเรื่องอะไรเป็นพิเศษแก่เด็กไหม?
"สอดแทรกเรื่องความซื่อสัตย์ มีวินัย รับผิดชอบ คุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญูและมารยาทในสังคม การรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามของไทย ถ้านักเรียนมีสิ่งเหล่านี้ฝังแน่นในจิตใจ ครอบครัว สังคม ประเทศชาติก็มีความสงบสุขค่ะ"
ด้านคุณธรรมสำหรับเด็กก่อนที่จะมีโซเชียลกับปัจจุบันมี โซเชียลแล้ว ต่างกันไหม?
"แตกต่างกันค่ะ เมื่อก่อนเรารับข้อมูลข่าวสารจากหนังสือ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสื่อที่เราสามารถควบคุมได้ สื่อลามก อนาจาร หรือแม้กระทั้งเกมความรุนแรงต่างๆ ยังไม่มี เด็กยังมีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม แต่ปัจจุบันเมื่อมีโชเซียลเราไม่สามารถควบคุมได้ ก็มีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก แต่ถ้าเด็กที่เขาดีอยู่แล้วก็ไม่ต่าง เด็กดีมีโซเชียลเขาก็จะนำข้อมูลในโซเชียลมาพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นก็ดีขึ้นไปอีก ส่วนคนที่ใช้โซเซียลในทางที่ผิดก็จะนำสิ่งที่ไม่ดีมาปฏิบัติ ทำให้เขากลายเป็นคนขาดคุณธรรม จริยธรรม"
ปัจจุบันเด็กหลงวัตถุนิยมมากขึ้น เราแนะนำเขาเรื่องนี้ยังไง?
"สุภาษิตไทยที่ว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” เราต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาเห็นก่อน ครูต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม แล้วก็ค่อยๆ สอนเขา ให้รู้ประโยชน์และโทษของวัตถุนิยม ถ้าเด็กคนไหนไม่ปรับตัวหลงวัตถุนิยม เราจะมองไปถึงครอบครัวเขา จะใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยการไปเยี่ยมบ้านพูดคุยกับผู้ปกครอง เพื่อร่วมมือกันแก้ไขให้เขามีพฤติกรรมเปลี่ยนในเชิงบวกมากขึ้นค่ะ"
มีเทคนิคยังไงให้เด็กหันมาสนใจสิ่งที่เรากำลังสอน?
"ตัวครูไม่ค่อยดุหรอกค่ะ แต่ว่าถ้าไม่ทำตามก็จะดุบ้าง เทคนิคที่เด็กชอบก็คือใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ค่ะ ครูจะหาอะไรใหม่ๆ มาให้เด็กได้มีส่วนร่วม เช่น ใช้สื่อการสอนที่เป็นเกม ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เรียน สื่อโฆษณา สื่อ YouTube เพลง ละครทีวี ครูต้องศึกษาว่าเด็กวัยรุ่นเขาชอบอะไรเพราะเราสอนมัธยมปลายอย่างวิชาเศรษฐศาสตร์ สอนเรื่องการผลิต เราก็นำสื่อโฆษณา สื่อนักร้อง ดาราวัยรุ่น กลุ่มที่เขาชอบ เช่น นักร้องเกาหลี ญี่ปุ่น พอขึ้นจอปุ๊บ เด็กๆ ก็จะร้องว้าวเขาจะมีชีวิตชีวา ครูก็สามารถโยงเข้าสู่เนื้อหาสาระการเรียนได้ง่ายขึ้น นักเรียนก็ตั้งใจเรียนขึ้นค่ะ"
ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเยอะมาก ครูแนะนำนักเรียนยังไง?
"ตอนนี้ที่โรงเรียนขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยน้องๆ ที่เป็นแกนนำในมูลนิธิครอบครัวพอเพียง ครูมีโอกาสไปอบรมซูเปอร์ครูกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงแล้วก็มาขับเคลื่อนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ และกิจกรรมที่นำไปบูรณาการกับกิจกรรมของโรงเรียน ให้ผู้บริหารและครูรับทราบ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทำให้นักเรียนเห็น ถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนแกนนำให้เขาเป็นตัวอย่างและเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมให้เพื่อนๆ ได้เห็นโดยสอดแทรกไปในกิจกรรมของโรงเรียนทุกกิจกรรม โดยใช้หลัก 5 คำ 5 ข้อ ที่พ่อสอนมาบูรณาการจัดกิจกรรม วิชาสังคมศึกษาก็จะสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในเนื้อหาของทุกระดับชั้นค่ะ
"เมื่อก่อนเด็กเขาจะเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียง คือเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจะท่องแค่ 30-30-30-10 ครูจะบอกนักเรียนว่า เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นโครงการตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงช่วยเหลือราษฎรที่เป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินห่างไกลจากแหล่งน้ำ ให้สามารถทำประโยชน์จากพื้นที่ทำกินของตนเองได้อย่างเต็มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน
"ส่วนเรื่องความพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนให้เราพอเพียงทุกด้าน ครูก็จะยกตัวอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5 คำ 5 ข้อที่พ่อสอน มาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ฝนตก เดินทางมาโรงเรียนยังไงถึงจะไม่เปียก ก็จะสอนเขาว่าให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศทุกวัน เมื่อเรามีความรู้ว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกนะ เราก็จะวางแผนเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดกระเป๋ามาด้วย เมื่อฝนตกเราก็ไม่เปียกสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง แก้ปัญหาการมาโรงเรียนสายได้ด้วยเพราะถ้าฝนตกเราก็ออกจากบ้านเช้ากว่าเดิมก็จะทำให้เรามาเรียนทันตามเวลา ทำให้เราเป็นคนมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลาด้วย รวมถึงสอนเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ลอกการบ้านหรือข้อสอบเพื่อน เป็นต้น ครูก็จะแนะนำโดยยกตัวอย่างการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียนทำให้เขาเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นค่ะ"
ในอายุราชการที่เหลืออยู่ครูอยากเห็นอะไรในเด็กนักเรียน ในครู หรือโรงเรียน?
"อยากบอกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดระบบการศึกษา ว่าอย่ามุ่งเน้นแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี อยากให้ช่วยกันส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมควบคู่ไปด้วย อยากให้ลงมาสัมผัสถึงชีวิตจริงๆ ของนักเรียน ว่าทำยังไงเราถึงจะส่งเสริมให้เด็กของเราเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ มีจิตอาสา มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญมีความกตัญญู เพราะว่าตอนนี้ มองว่าวัฒนธรรมของเด็กเราเปลี่ยนแปลงไปในทางลบเยอะขึ้น ครูอยากจะให้ทุกคนเป็นคนดี รักตัวเอง รักครอบครัว รักประเทศชาติ อยากให้รักษาวัฒนธรรมที่ดีที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยจริงๆ เอาไว้ เหมือนกับประเทศภูฏานแต่งตัวเป็นเอกลักษณ์ มีอะไรที่เป็นของตนเองทุกอย่าง และพัฒนาประเทศเราให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ เอาสิ่งดีๆ ของเราไปพัฒนาประเทศ ถ้าประเทศไทยมีความสุข โรงเรียนของเราถึงจะมีความสุข"
ดูเหมือนว่าการศึกษาไทยจะไปคนละทางรึเปล่า คนสอนอยู่ทางนี้ คนออกข้อสอบอยู่อีกทาง คนประเมินอยู่อีกทาง ครูมองตรงนี้ยังไง?
"ใช่ค่ะ เหมือนกับว่าตอนนี้นโยบายให้โรงเรียนปฏิบัติตามมีเยอะมาก ครูปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว ครูต้องทำหน้าที่อื่นๆ เพื่อรองรับการประเมิน หลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ่อย หลักสูตรตอนนี้ไม่เหมือนเดิม หลักสูตรเมื่อก่อนที่เราเป็นนักเรียนเรารู้สึกว่าเราเรียนสนุก ครูมีเวลาสอนเต็มที่ ครูมีความสุขในการสอน นักเรียนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำด้วยความเต็มใจ ไม่มีผลการเรียนเป็นตัวล่อให้ทำความดีเหมือนปัจจุบันที่ให้นักเรียนทำจิตอาสานับเป็นชั่วโมง ทำครบตามเกณฑ์ก็ผ่าน ทำไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ผ่าน ทุกวันนี้เด็กทำจิตอาสาเพื่อหวังชั่วโมงพอเขาทำครบเขาก็เฉย บอกครูว่าชั่วโมงจิตอาสาครบแล้ว บางทีครูอายนักเรียนไม่กล้าขอให้ช่วยค่ะ อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบว่าก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ลงมาสำรวจข้อมูลถึงผลดีและผลเสียของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยสอบถามจากความคิดเห็นของครูผู้ปฏิบัติจริงในโรงเรียนค่ะ"
สุดท้าย ครูในอุดมคติสำหรับคุณครู เป็นยังไง?
"เป็นคุณครูที่ใจดี เข้าถึงเด็ก เด็กให้ความเคารพเชื่อฟังแล้วก็มีวินัย ไม่ได้ต้องการให้เคารพแบบเกรงกลัว ครูในอุดมคติก็คือครูที่สามารถสอนหนังสือนักเรียน แล้วนักเรียนประสบผลสำเร็จ อยากจะให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนดีแล้วก็ไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขไม่ว่าจะอาชีพอะไร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับใหญ่โต เป็นนายแพทย์ เป็นนางงาม เป็นดารา แต่ถ้าเขาจบออกไปแล้วเขาเป็นคนดีสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นั่นแหละคือความสำเร็จของครูในอุดมคติ อยากให้เป็นแบบนั้นค่ะ"
Commenti