“ฉันจะเป็นครูที่เดินตามรอยพระราชา” คือประกาศปฏิญาณของ มาริสา อินลี หรือ ครูแอน
ครูแนะแนวประจำโรงเรียนมุกดาหาร ผู้ยึดคำสอนพระพุทธเจ้าและในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการแนะนำแนวทางชีวิตให้กับลูกศิษย์และตนเอง ก่อเกิดหลักการสอน “พฤติกรรมสำคัญกว่าคำพูด” หมายความว่า ครูคือตัวอย่างด้านการกระทำ เด็กจะประพฤติตามคำสอนหรือไม่ ครูต้องกระทำให้เห็นเท่านั้น
“ทรัพย์อะไรไม่เท่ากับทรัพย์คนที่เป็นอริยะ สร้างคนดีทิ้งไว้ให้แผ่นดิน เพราะเดี๋ยวเราก็ตาย ความรู้ก็เอาไปไม่ได้ ทรัพย์ก็เอาไปไม่ได้ ครูถือว่านักเรียนหนึ่งคนคือหนึ่งกองบุญของครู ครูไม่ได้ทำกองกฐินที่วัดเพราะคนทำเยอะแล้ว ครูทำโรงเรียนให้เป็นวัด”
ทำไมถึงเลือกที่จะเป็นครู ?
ตอนแรกไม่อยากเป็นครูนะคะ อยากเป็นแม่ค้าขายข้าวเปียก ขายกวยจั๊บ เพราะอยากได้เงิน แต่แม่อยากให้สอบครู ตอนนั้นเราเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัวเองไม่เก่งอังกฤษ แต่ฝันอยากเป็นหมอ เป็นจิตแพทย์ พอเรามาเรียนครูก็มองหาว่าอะไรที่เกี่ยวกับจิตแพทย์ นั่นก็คือนักจิตวิทยาแนะแนว ก็เลยเลือกเรียนครูแนะแนว เพราะตัวเองทุกข์มาก ทุกข์ขนาดที่ว่าครูสั่งให้วาดรูปทีไรจะวาดรูปคนร้องไห้เสมอ มันสะท้อนออกมาที่รูป คนที่เรียนจิตวิทยามาจะรู้ว่ารูปมันบอกว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในชีวิต แต่ตอนนั้นยังไม่รู้นะว่าตัวเองทุกข์ขนาดนั้น มันสะสมมาตั้งแต่เด็กพ่อแม่แยกกัน แม่มีกิ๊ก พ่อขี้เหล้า แล้วลูกจะดำรงอยู่โดยไม่มีปัญหาได้ยังไง
แต่ที่ตัวเองไม่มีปัญหาแสดงว่าบุญเก่ายังมี ของเก่ามันสอนว่าให้เราทำดีเท่านั้น เรามีพี่น้อง 3 คน แต่มีคนหนึ่งคิดไม่ได้ ชีวิตเป๋ไป เราก็เลยเข้าใจว่า “เด็กที่มีปัญหา คือคนขาดรัก” ต้องเติมรักให้เขาเท่านั้น ไม่ต้องถามว่าหนูมีปัญหาอะไร เดี๋ยวเขาจะคุยให้เราฟังเอง ให้ความรักไปก่อน แล้วก็ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอนมา เมื่อเขาได้ความรู้ไปแล้วเขาจะเกิดภูมิคุ้มกัน ยามเด็กจะทำชั่วเขาจะได้นึกออกว่าคุณครูสอนอะไร พระพุทธเจ้าสอนอะไร ในหลวงสอนอะไร นี่เป็นภูมิคุ้มกันแล้ว
เริ่มสอนครั้งแรกที่ไหน ?
มาเป็นคุณครูประถมศึกษา 1 ปีค่ะ ที่โรงเรียนบ้านบาก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เราเลือกโรงเรียนชายแดนเขตพื้นที่สีแดง อุดมการณ์แรง ตอนอายุประมาณ 23 ปี จากครูประถมศึกษาก็สอบบรรจุ(โอนย้าย)เข้าโรงเรียนมุกดาหาร เพื่อจะใช้วิชาที่เรียนมาให้เต็มศักยภาพ จนวันนี้ 33 ปีแล้ว ไม่เคยย้ายอีกเลย เพราะตั้งใจว่าอยู่ที่ไหนก็อยู่ให้มันดี แต่ส่วนตัวพื้นเพเป็นคนอุบลราชธานี แต่ไม่มีพี่น้องครอบครัวใหญ่ให้เป็นห่วง ก็เลยคิดว่าอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ให้มันอุ่น เงินเดือนน้อยไม่เป็นไร ค่อยๆ แบ่งปันเงินตัวเองมาทำกิจกรรมต่างๆ ให้นักเรียน เพราะงบประมาณโรงเรียนค่อนข้างยาก กว่าเขาจะให้แต่ละกลุ่มสาระครบ มันไม่มีอะไรเหลือถึงเรา ฉะนั้น วิธีเดียวคือกินให้น้อยลง ที่เหลือจากเราจะได้ทำเพื่อผู้อื่นมากขึ้น ลองไปดูห้องแนะแนวโรงเรียนมุกดาหารสิ ครูว่าห้องแนะแนวที่นั่นดีที่สุดแล้วนะ เงินที่ครูเทลงไปมานั่งนับดูประมาณครึ่งล้าน สร้างบ้านหลังน้อยให้ครูตอนเกษียณได้หนึ่งหลังเลย(หัวเราะ)
เพราะครูมองว่าทรัพย์อะไรไม่เท่ากับทรัพย์คนที่เป็นอริยะ สร้างคนดีทิ้งไว้ให้แผ่นดิน เพราะเดี๋ยวเราก็ตาย ความรู้ก็เอาไปไม่ได้ ทรัพย์ก็เอาไปไม่ได้ ครูถือว่านักเรียนหนึ่งคนคือหนึ่งกองบุญของครู ครูไม่ได้ทำกองกฐินที่วัดเพราะคนทำเยอะแล้ว ครูทำโรงเรียนให้เป็นวัด
"ความรักของครูต้องไม่มีเงื่อนไข จะดีจะชั่วคืออนุสาวรีย์แห่งความอัปยศหรือชัยชนะของเรา"
ปัจจุบันสอนด้านไหนบ้างคะ ?
สอนนักเรียน ม.1 กับ ม.4 ปลูกฝังเรื่องคุณธรรมวิชาแนะแนว ฝึกทักษะชีวิต อาศัยหลักสูตรพระพุทธเจ้ามาสอน วิธีการคือ 1 ภาคเรียนสอนให้นักเรียนเป็นคนดีอย่างเดียว แต่เราต้องทำพฤติกรรมเป็นตัวอย่างก่อน ไปสอดคล้องกับระเบียนความดีที่ให้เด็กทำทุกวัน สอน ม.1 แล้วพอเด็กขึ้น ม.4 ก็กลับมาเจอครูแอนอีกครั้ง เหมือนการย้ำหัวหมุด บางทีเบี้ยวไปบ้างไม่เจอครูแอนสองปี ก็จับปรับให้เข้าที่เข้าทางใหม่ เวลาจบออกไปเจอเรื่องร้ายๆ เขาจะได้นึกถึงคำพูดครู
ความเป็นครูในมุมมองของครูแอนเป็นอย่างไร ?
ต้องเป็นคนต้นแบบ เสียสละและกตัญญู ใครเป็นครูก็ได้ แต่เป็นครูที่ดียาก การเป็นครูว่ายากแล้ว แต่การเป็นครูที่เป็นต้นแบบด้วยยากยิ่งกว่า แต่มันต้องเป็น คุณไม่มีสิทธิ์ไม่เป็นคนต้นแบบ เราจะทำยังไงให้ครูหันกลับมารู้หน้าที่ตัวเอง คนต้นแบบต้องดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง และคิดพูดทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยการกระทำเป็นพฤติกรรม ถ้าตัวเองไม่มีพฤติกรรมสะอาด ขยัน ประหยัด สื่อสัตย์ เสียสละ กตัญญู มันไปสอนคนอื่นยาก แต่ครูแอนสอนได้ เพราะมันออกมาเป็นพฤติกรรมจนคนอื่นเขาเชื่อ เราเพียรทำ คนอื่นไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องไม่ผิด
พฤติกรรมที่ว่า ใครเป็นต้นแบบให้ครูแอน ?
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำเพื่อพวกเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยามหลับยามตื่น ยามไม่สบาย แล้วเราเป็นครูแค่ลูกศิษย์ไม่ได้ดั่งใจเราบอกช่างมันเหอะ ไม่ได้ เราพูดเมื่อไหร่เราก็เป็นข้าราชการที่ชั่ว เด็กไม่ได้ดั่งใจมันสะท้อนว่าครูไม่มีฝีมือ ไล่เด็กออกไปตัดปัญหาแปลว่าคุณสอบตก เพราะการไล่ออกมันง่ายกว่าการแก้ไข มันคือบทพิสูจน์ต้นทุนที่คุณมี โรงเรียนของครูแอนใช้ความรักแก้ไข โอบอุ้มสร้างภูมิคุ้มกัน แก้ไขปัญหาและพัฒนาเขาต่อด้วยความรัก จึงใช้คำว่า “รักเหนือรัก” ความรักของครูต้องไม่มีเงื่อนไข จะดีจะชั่วคืออนุสาวรีย์แห่งความอัปยศหรือชัยชนะของเรา คนที่อยู่ตรงหน้าในเวลาปัจจุบันคืออนุสาวรีย์แห่งชัยชนะหรือความอัปยศของครู เด็กไม่ดีก็สะท้อนครูเหมือนกัน มันไม่ใช่หน้าที่จะเอาอนุสาวรีย์ไปถ่วงน้ำเพื่อไม่ให้คนอื่นเขาเห็น เราสร้างเด็กหนึ่งคนเพื่อไม่ให้มีปัญหา มันก็ทำให้ได้อีกหนึ่งคนตามมา เดี๋ยวมันก็กลายเป็นครอบครัว เป็นสังคม เป็นประเทศชาติ คนดีอย่างเดียวไม่พอ คนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนมีคุณภาพด้วย หมายถึงเต็มตามศักยภาพ แล้วต้อง คิด-พูด-ทำ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตน
"พอเพียงคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถ้าล้ำเส้นเมื่อไหร่คือเบียดเบียน ถ้าเบียดเบียนผู้อื่นแล้วจะพอเพียงได้ไง"
จากกรณีของทีมหมู่ป่า ครูนำมาปรับสอนเด็กยังไงบ้าง ?
มันคือหลักสูตรของพระพุทธเจ้าที่สอนมานะ ท่านบอกว่าให้ คิด-พูด-ทำ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งที่ปรากฏก็คือคนจากหลายประเทศมาช่วยเหลือทีมหมูป่าโดยไม่ต้องรอให้ใครเชิญเลย ทุกคนมาทำอะไรไม่ได้เก็บขยะก็ยังดี ขอแบกท่อช่วยก็ยังได้ เห็นไหมความรักมันแก้ปัญหาได้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะพ่อหลวงของเราเคยทำไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ได้เห็นกันจริงๆ ในชาตินี้
ในฐานะครู จึงทำทุกอย่างเพื่อนักเรียน ในฐานะภรรยาก็ทำทุกอย่างเพื่อสามี ในฐานะแม่ก็ทำทุกอย่างเพื่อลูก ทุกคนสำคัญหมด ฉะนั้น “เราจึงทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าในเวลาปัจจุบันเสียใจไม่ได้เลย” ก็จะสอนเด็กอย่างนี่เสมอ
ความพอเพียงในความคิดของครูคืออะไร ?
คือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถ้าล้ำเส้นเมื่อไหร่คือเบียดเบียน ถ้าเบียดเบียนผู้อื่นแล้วจะพอเพียงได้ไง หัวใจก็เหมือนกับพระธรรมคำสอน คือ สะอาด ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ กตัญญู สะอาดคือกายวาจาใจที่ฉันจะทำเพื่อเธอคนที่อยู่ตรงหน้าในเวลาปัจจุบัน เมื่อฉันทำเพื่อเธอแล้ว มันก็เกิดความขยันขึ้นมา ฉันขยันเพื่อเธอนะ พ่อแม่ขยันเพื่อลูก ครูขยันเพื่อองค์กร เพื่อศิษย์ ประหยัดคือ ประหยัดกายวาจา อะไรไม่ควรพูดอย่าพูด กายไม่ควรเอาไปกินเหล้าเมายา เก็บแรงไว้ทำประโยชน์อย่างอื่นดีกว่า ซื่อสัตย์คือ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำเต็มที่ดีที่สุดแล้วไม่มีอะไรต้องเสียใจ ซื่อสัตย์ในหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดตามศักยภาพ ซึ่งต่างคนมีศักยภาพของตนเองแตกต่างกันไป ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ห้านิ้วจึงจะเป็นหนึ่งฝ่ามือ เสียสละก็คือ ฝึกคิดพูดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตัว พระพุทธเจ้าก็สอน ในหลวงก็สอน ส่วนกตัญญูคือ กตัญญูต่อคนที่อยู่ตรงหน้าที่ได้ทำเพื่อเรา ต่อความดีที่บรรพบุรุษไทยที่ได้ทำเพื่อลูกหลาน ต่อความดีของในหลวงที่ได้ทำเพื่อประชาชนของท่าน ต่อความดีของพ่อแม่ที่ได้เสียสละเพื่อเรา ความดีของครูอาจารย์ เขาตั้งใจมาสอนคุณจะนั่งเล่นไลน์ได้ยังไง ความดีของนักเรียนที่ตั้งใจเรียนแล้วครูไม่เตรียมการสอนได้ยังไง คุณก็อกตัญญู “คำว่ากตัญญูไม่ได้เกี่ยวกับความอาวุโสนะ”
ช่วยยกตัวอย่างการใช้ความรักในการแก้ปัญหาหน่อย ?
แต่ก่อนครูโทษสามีมาตลอด เขาดี 98 เปอร์เซ็นต์ เสียนิดเดียวเขามีกิ๊ก กิ๊กจะมาเอาสามีออกจากบ้านเรา ครูทำยังไงรู้ไหม รักเขา รักไม่พอ กอดไว้ เพราะอะไรรู้ไหม โปรโมชั่นหมดเราลืมกอดกัน เราลืมบอกรักกันทุกวัน แก้แค่นี้ค่ะ กิ๊กจะเข้ามาก็พร้อมจะกอดกิ๊กด้วย กิ๊กก็ไม่กล้าชั่ว คนของเราก็ไม่กล้าชั่ว สามีเขาก็ไม่ไป แต่ถ้าเขาจะไปเราก็พร้อมอวยพรให้เขาไปเจอแต่สิ่งดีๆ ไม่สาปแช่งเขานะ เพราะเข้าใจว่ากรรมหมดกันแล้ว เจ้าหนี้ชาติก่อนคือสามีภรรยา เจ้าหนี้ชาติใหม่คือลูก มันก็จะหมดกรรมกันได้ในชาตินี้เลย ถ้าคิดอย่างนี้จะไม่ทุกข์ ถ้าเรามีศีลห้าครบจะไม่รู้จักอกหัก เพราะรักเขาโดยไม่หวังผลตอบแทน เพราะปรารถนาดีอยากช่วยอยากให้คุณมีความสุข
ความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็นครูของครูแอนคืออะไร ?
คนๆ นี้จะแก้ปัญหาตัวเองได้ แก้ปัญหาครอบครัวได้ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจ ได้แรงบันดาลใจจากทันตแพทย์สีใบตอง ท่านทำเรื่องคุณธรรมมา 50 ปี นำเข้ากระทรวงศึกษาธิการ 15 ปี ไม่เกิด เพราะครูอัตตาสูง สองคือมันยาก เพราะต้องเสียสละตัวเอง วันหนึ่งครูได้ไปอบรมกับท่าน จากเดิมทีตั้งใจรอวันเออร์ลี่ เพราะเราก็เบื่อ ครูเห็นแก่ตัวมากขึ้น นักเรียนแย่ลง สังคมแย่ลง เบื่อมากรอวันเออร์ลี่ 25 ปีเมื่อไหร่ตั้งใจจะลาออก
บังเอิญปีนั้นจะ 25 ปีพอดี เพื่อนมาบอกว่าหลักสูตรนี้ดีนะ เราก็บอกไม่ไปจะรอลาออกเออร์ลี่แล้ว พอดูชื่อหลักสูตรเขียนไว้ว่า “คืนมนุษย์สู่เหย้าเพื่อเฝ้าเมือง” เราตกใจว่าโอ้โห ใช้ภาษาขนาดนี้เลยหรือ เราก็เลยลองไปอบรมหลักสูตรนี้ดู อยากรู้ว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงใช้คำนี้ ไปเห็นว่าท่านทำเพื่อถวายในหลวง(ร.9)มา 50 ปี ด้วยงบประมาณตัวเอง พออบรมเสร็จตาสว่างเลย ไม่เออร์ลี่ บอกกับตัวเองว่าต่อแต่นี้ไปฉันจะไม่ลาออก และถ้าเกษียณก็จะอาสา เพิ่งรู้ว่าทางที่เราเดินมาถูกต้องแล้ว ดีที่ว่าเราไม่หลุดออกไป
พออบรมเกี่ยวกับคำสอนพระพุทธเจ้าเราก็เพิ่งทราบว่าเรามาถูกทางแล้ว คือ กระทำด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง คิด-พูด-ทำ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข จงทำความดีให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปโดยมีครูอาจารย์เดินนำหน้าไปแล้ว มีพระพุทธเจ้าเดินไปแล้ว มีในหลวงเดินไปแล้ว มีทันตแพทย์สีใบตองเดินไปแล้ว เราโชคดีแค่ไหนเราเดินตาม หลักสูตรเขาสรุปบทเรียนของพระพุทธเจ้าไว้ให้เรียบร้อย ในหลวงก็สรุปบทเรียนของการเป็นคนดีไว้ให้เรียบร้อย เมื่อนำมาปฏิบัติในชีวิต ลูกสาวก็บอกว่า ต้องขอบคุณทันตแพทย์สีใบตองที่ทำให้แม่มีความสุขขึ้น
"คนๆ นี้จะแก้ปัญหาตัวเองได้ แก้ปัญหาครอบครัวได้ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ นี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจ"
เด็กสมัยนี้ครูแอนห่วงเรื่องอะไรมากที่สุด ?
เรื่องการเป็นคนดี เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพราะต้นแบบมันบางลง พิมพ์ที่ตามมามันก็เลือน พ่อแม่ก็เบี้ยว ครูก็เบี้ยว มันก็เลือนไปเรื่อยๆ พิมพ์มันเบี้ยว เมื่อบล็อกพ่อไม่ดี แม่ไม่ดี จะมาสอนลูกให้ดีได้ยังไง เขาเรียกว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกตามกรรมของตัว มันก็คลอดมาเป็นคนพันธุ์นี้ แก้ปัญหาเด็กต้องไปแก้ที่พ่อแม่ ต้องสอนพ่อแม่ให้รักลูกให้เป็น เพราะครอบครัวทุกวันนี้แตกแยกเยอะมาก ต้องสร้างภูมิคุ้มกันไว้ เอาคุณธรรมใส่ให้เขาให้ได้ ปลูกฝังโดยใช้หลักคำสอนพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ให้ชัดเจนเรื่องกรรม ให้ทำตามสาราณียธรรม 6 แล้วก็จะมีความสุขเองโดยอัตโนมัติ ทุกวันนี้อ้าปากกำลังจะตำหนิคนอื่นก็กลืนน้ำลายกลับไป กำลังจะกลายร่างเป็นซาตาน เพราะเกิดหนึ่งแผลต้องไปแก้อีกหลายแผล ทำให้ลูกเขาเสียใจ ลูกอาจจะไปเล่าต่อให้พ่อแม่ฟัง ต้องตามเคลียร์อีกหลายคน สรุปว่าเจ็บเพิ่มทุกคน ถ้าคุณทะเลาะคุณไม่ได้ทะเลาะกับคนๆ เดียว ยังมีญาติพี่น้องสังคมของเขาอีก
เห็นครูแอนยึดคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางอย่างจริงจังมาตลอด อยากทราบว่าวันที่พระองค์สวรรคตครูแอนบอกกับตัวเองอย่างไร ?
ในวันนั้นรู้แว่วๆ มาตั้งแต่ตอนบ่าย เรารอหน้าทีวีไม่ไปไหน พอเขาประกาศในทีวีว่าท่านสิ้นพระชนม์ ครูแอนก็นั่งลงกับพื้นหน้าทีวี กราบลงไป รู้ว่าเสียใจแต่ก็บอกกับตัวเองว่า นับแต่นี้ไป 1 ความดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน ขอใช้เงินตัวเองขึ้นป้ายหน้าโรงเรียน หน้าห้องแนะแนว เอาปฏิญาณในใจออกมาขึ้นป้ายไว้เลย เกิดเป็นอุดมการณ์ร่วมกันกับมูลนิธิครอบครัวพอเพียงมาถึงวันนี้
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำเพื่อพวกเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยามหลับยามตื่น ยามไม่สบาย แล้วเราเป็นครู แค่ลูกศิษย์ไม่ได้ดั่งใจเราบอกช่างมันเหอะ ไม่ได้ เราพูดเมื่อไหร่เราก็เป็นข้าราชการที่ชั่ว"
สุดท้าย,ครูตั้งเป้าในชีวิตไว้อย่างไรบ้าง ?
ตอนนี้อายุ 56 ปี เมื่อเกษียณแล้วถ้ามีโอกาสก็จะเป็นครูต่อ คิดว่ามีโอกาสเพราะอาสาเอง ตราบที่เรายังอยากจะช่วยคนอื่นอยู่ ถ้ายังมีแรงมีเงินพอที่จะเติมน้ำมัน กินข้าวได้อิ่ม มีกำลังมีสุขภาพดี ไม่น่าจะมีปัญหา ไม่ได้คิดว่าเกษียณแล้วเราจะต้องพักตามใจชอบ เพราะลูกหลานเรารอดแล้ว
มันมีความรักชาติรักศาสตร์กษัตริย์ ความรักมันทำให้เราหยุดไม่ได้ ความรักที่ว่านั้นมันเกิดจากในหลวงทำเพื่อเรา ความรักของท่านทำให้เราเห็น มันมากจนกระทั่งเราไม่สามารถทรยศความดีที่ท่านทำไว้ให้ได้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จนเกิดเป็นอุดมการณ์ ครูเขียนไว้ที่โรงเรียนว่า “ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา รู้รักสามัคคี ทำความดีเพื่อแผ่นดิน” นี่คืออุดมการณ์คุณธรรมของโรงเรียนมุกดาหาร ที่ครูเขียนไว้.
Comments