top of page
รูปภาพนักเขียนครอบครัวพอเพียง

ทำยังไงถึงได้เรียนมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก: ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์อธิการบดี สจล.

อัปเดตเมื่อ 17 มิ.ย. 2562

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้คือคำบอกเล่าของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “พี่เอ้” อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งย้อนความเป็นมาของตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ เยาวชนได้เห็นภาพว่า กว่าจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย MIT ได้ เขาทำอย่างไร และต้องผ่านอะไรมาบ้าง

เริ่มต้นจากความใฝ่ฝัน

“วันหนึ่งผมจะไปเรียนที่ MIT เหมือนกับคุณลุงท่านนี้ครับพ่อ” เอ้เปิดเอกสารที่พ่อได้รับแจกมาจากงานแห่งหนึ่ง ภายในปรากฏรูปและประวัติย่อของ ดร.เชาวน์ ณศีลวันต์ องคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 9 ท่านจบปริญญาเอกที่ Massachusetts Institute of Technology(MIT) และก้าวสู่ตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่อายุ 47 ปีเท่านั้น


Massachusetts Institute of Technology(MIT) เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ในปี ค.ศ.2014 มีบุคคลเกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลโนเบลถึง 81 คน เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้ายากแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนานทีจะมีคนไทยได้รับเลือกเข้าไปเรียนสักคนหนึ่ง และสิ่งที่เอ้บอกกับพ่อนั้นใครก็ต่างทราบดีว่า “มันไกลเกินเอื้อม” แต่แทนที่พ่อจะบอกว่ามันไกลเกินเอื้อม กลับบอกลูกชายว่า “ถ้าเอ้ตั้งใจเรียน มีความมุมานะ เอ้ต้องได้ไปเรียนที่นี่แน่”


นี่คือสิ่งที่เอ้สังเกตเห็นชัดเจนว่า พ่อแม่ของตนมีแต่สร้างกำลังใจให้ลูก เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ มันทำให้เขามีพลังมานะ เขาเริ่มมองหาทางว่า ทำยังไงถึงจะได้เข้าที่เรียน MIT และพบว่าสิ่งแรกที่ต้องมีคือ “ผลงาน”


แน่นอนว่าผลงานธรรมดาดาษดื่นเหมือนคนทั่วไปย่อมไม่ได้รับการยอมรับพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในโปรเจกต์จบปี 4 วิศวโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เอ้และทีมเพื่อนอีกสองคนจึงเลือกที่จะ “ออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของประเทศไทย” นั่นคือความคิดของคนอายุราวยี่สิบปีซึ่งไม่มีใครในรุ่นเดียวกันเคยคิดหรือกล้าคิดมาก่อน เขาและทีมรวบรวมข้อมูลด้านวิศวกรรมทั้งหมดที่ประเทศไทยมีเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบจนสำเร็จเป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์ก่อนเรียนจบระดับปริญญาตรี จากโปรเจกต์นี้เองทำให้เขาได้เกรดเออีกด้วย

“ยังไม่พอ เราต้องทำให้เกิดขึ้นจริง” เอ้บอกกับเพื่อนที่ร่วมกันออกแบบ สิ่งที่เขาจะทำต่อไปคือเอางานออกแบบนี้ไปเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นหนึ่งในคนที่เรียนจบจาก MIT เช่นกัน แต่สิ่งเดี่ยวที่เอ้ยังไม่ทราบในตอนนั้นคือ ไม่เคยมีเด็กจบใหม่คนไหนกล้าลุกขึ้นมานำเสนอแนวคิดตัวเองต่อผู้ว่าฯ กทม.เพื่อแลกกับใบรับรองจากประเทศไทยเพื่อประกอบการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก


แต่สิ่งที่เอ้ทำการบ้านมาก็คือ เขาทราบมาตลอดว่าผู้ว่าฯ ท่านนี้ก็จบมาจาก MIT เมื่อได้โอกาสเขาจึงเข้าพบพร้อมกับ รศ.ดร.ประกิจ ตังติสานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ภายในห้องทำงานโอ่โถง รศ.ดร.ประกิจ ตังติสานนท์ เริ่มบทสนทนาเปิดทางให้ลูกศิษย์ของท่านว่า “ท่านผู้ว่าครับ นักศึกษาของเราออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินมามอบให้ครับ”

“ดีมากครับ เดี๋ยวจะเอาไปมอบให้กับรองผู้ว่าพิจารณาดู ขอบคุณนะครับ” ท่านผู้ว่ากล่าว พร้อมทำท่าจะลาไปทำธุระอย่างอื่น ขณะเดียวกันเอ้ทราบดีว่าการเข้าพบผู้ว่าฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขามารอเข้าพบที่หน้าห้องผู้ว่าฯ กว่าสองสัปดาห์แล้วจนเจ้าหน้าที่หน้าห้องเห็นใจอนุญาตให้เข้าพบ

“ท่านผู้ว่าครับ” เอ้เปิดประโยคเข้าเรื่องทันทีเพื่อไม่ให้เสียโอกาส “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาจราจรครับ แต่ปัจจุบันไม่มีใครที่เรียนจบทางด้านนี้เลย การก่อสร้างอุโมงค์ในดินอ่อน ผมขออาสาเป็นคนไทยคนแรกที่จะไปเรียนแล้วกลับมาทำรถไฟฟ้าใต้ดินครับ”

“เหรอ เรียนที่ไหน” ท่านผู้ว่าสนใจ

“ที่มหาวิทยาลัยเดียวกับท่านครับ” คำตอบของเอ้ทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปด้วยความภาคภูมิใจของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นศิษย์เก่า MIT อีกฝ่ายหนึ่งเป็นรุ่นน้องที่กำลังจะก้าวเข้าไปเรียนตามรอยรุ่นพี่ และมันทำให้การเซ็นใบรับรองให้เอ้เป็นไปอย่างราบรื่น


มาตรว่า ไหวพริบปฏิภาณสร้างโอกาสให้คนมากมาย ขณะเดียวกัน คำพูดคำเดียวก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างได้

ไม่ได้มาง่ายดายอย่างที่คิด

เอ้กอดเก็บใบรับรองจากผู้ว่าฯ ประหนึ่งของมีค่ากว่าอื่นใด แต่สิ่งสำคัญที่เขายังต้องมีอีกอย่างคือจดหมายแนะนำตัว 300 คำ เป็นความเรียงภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นสิ่งเดียวที่เอ้ยอมรับกับตัวเองว่า “อ่อนมาก” เขาสมัครเรียนโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อจะสอบโทเฟลให้ผ่าน สอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่มีวี่แววว่าจะผ่านสักครั้ง หากเป็นคนอื่นอาจถอดใจกับทางเส้นนี้ไปนานแล้ว แต่สำหรับเอ้ ถ้ามันจะต้องสอบอีกยี่สิบครั้ง เขาก็พร้อมจะทำเพื่อเสริมจุดอ่อนของตัวเองและมุ่งไปยังทางที่เลือก


“ผมจำคำของคุณพ่อคุณแม่ได้เสมอ ‘ทำได้ลูกลูกทำได้’ มันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมไม่รู้จักยอมแพ้ ฮึดสู้ ผมต้องสอบโทเฟล 14 ครั้ง มันทรมารแค่ไหน คนอื่นเขาสอบกันครั้งสองครั้งเขาก็ผ่านหมดแล้ว ผมต้องย้ายหอพักไปนอนอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนอาจารย์สงวนสมัยก่อน ความอดทนพยายามเหล่านี้มาจากพลังใจจากพ่อแม่ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ทำให้เราฮึดสู้ทุกที”


มูฮัมหมัด ยูนูสนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยกล่าวไว้ว่า “คนเราเหมือนเป็นตะเกียงวิเศษ ข้างในมีตัวจินนี่ มียักษ์วิเศษออกมา เพียงแต่จะออกมายังไงเท่านั้นเอง” เป็นความจริงที่เอ้ได้ทดสอบด้วยตัวเขาเองแล้ว และเขาก็เชื่อว่าทุกคนมียักษ์วิเศษอยู่ในตัวเองจริงๆ และสิ่งที่จะทำให้ยักษ์วิเศษของเราออกมาได้ก็คือ ความพยายามอันไม่มีขีดจำกัด จนทำให้เขาสอบผ่านโทเฟลได้ในที่สุด

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง 300 คำ โดยมีใจความประมาณนี้

“ผมโหนรถเมล์จากบ้าน ผมอยู่กับคุณลุงที่ย่านเกษตรมาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมงครึ่ง ขากลับอีกสองชั่วโมงครึ่ง ระหว่างนั้นผมมองออกนอกหน้าต่างสมัยก่อนประเทศไทยเขาเรียกว่าสยามเมืองยิ้ม หรือแลนด์ออฟสมายด์ผมมองออกไปแล้วไม่เห็นมีรอยยิ้มเลย ผู้คนหน้าตาบูดบึ้ง หงุดหงิด เพราะรถมันติด นี่คือสิ่งที่ผมเห็นอยู่ทุกวัน ในฐานะประธานนักศึกษา ออกค่ายช่วยคนมาตั้งเยอะ ในฐานะเด็กวิศวโยธาผมจึงพยายามหาทางช่วยแก้ไข ระดมความคิดกับเพื่อนอีกสองคน ทำโปรเจกต์อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของเมืองไทย เพื่อทำโครงการขนส่งมวลชนตั้งแต่ยังไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วก็คิดว่าจะขอไปเรียนที่ MITเพราะผู้ที่เรียนจบจากที่นี่เคยลงดวงจันทร์ก็มีมาแล้ว เป็นผู้นำประเทศก็มีแล้ว มีคนประสบความสำเร็จเยอะแยะมากมาย แต่ผมไม่ขอเป็นขนาดนั้นผมขอไปเรียนเพื่อเอาความรู้มาทำรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรก และนำรอยยิ้มกลับสู่คนกรุงเทพฯให้ได้”


ที่สุดชื่อของ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่จบจาก MIT และเป็นคนเดียวที่จบทั้งสองคณะสาขา ได้แก่ คณะวิศวโยธาและสิ่งแวดล้อม และ คณะบริหารนโยบายและเทคโนโลยี และเขาก็กลับมาร่วมเป็นหนึ่งในทีมสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกตามที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ

“ผมได้ไปเรียนที่ MIT แล้วก็กลับมาช่วยโครงการแรกระหว่างที่เรียนอยู่ อาจารย์เขียนชื่อผมที่สถานีหัวลำโพง เป็นหนึ่งในคนสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกได้สำเร็จ และเส้นที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาผมก็เป็นคนออกแบบทั้งเส้น ระหว่างที่เรียนMIT ท่านอาจารย์ประกิจ ตังติสานนท์ ท่านเป็นอธิการบดีแล้ว ท่านบอกว่า เอ้กลับมาช่วยที่มหาวิทยาลัยเถอะ ผมก็กลับมาช่วย กลับมาตอนอายุสามสิบ ท่านให้เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ถือเป็นผู้ช่วยอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่จบทั้ง 2 สาขา จาก MIT ทั้งวิศวโยธาและสิ่งแวดล้อม และ จบบริหารนโยบายและเทคโนโลยี คือผมต้องเรียนเพิ่มครับ เพราะระหว่างที่มาขุดอุโมงค์ กลับไปก็พบว่า วิศวะอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและประเทศได้ ต้องมีความรู้ด้านสังคมด้วย”


ไม่มีคำว่าค่อยเป็นค่อยไปในพจนานุกรมชีวิต

น้อง ๆ เยาวชนจะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้วบุคคลระดับโลก หรือคนที่จะเปลี่ยนโลกไม่ใช่คนที่วิเศษมาจากไหน หากผ่านความผิดหวังความบอบช้ำของชีวิตมามากมาย แต่สิ่งที่คนเหล่านั้นไม่มีวันยอมทิ้งไปจากคุณสมบัติของตนเองคือ “ความเพียร ความอดทน” เช่นเดียวกับพี่เอ้ เขาสามารถเลือกอาชีพในชีวิตนี้ได้มากมาย ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอธิการบดี แต่สิ่งเดียวที่เขาหันมารับหน้าที่นี้ก็เพราะว่า ลาดกระบังเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของเขา ครูอาจารย์ที่เคารพรักและหล่อหลอมเขามาล้วนอยู่ในที่แห่งนี้ และจุดยืนสำคัญในบทบาทอธิการบดีของเขาในวันนี้คือ “ไม่มีคำว่าค่อยเป็นค่อยไปในพจนานุกรมชีวิต” พี่เอ้อธิบายว่า โลกวันนี้มัวรอไม่ได้ เพราะวันนี้ยุคเทคโนโลยี เราไม่สามารถทราบได้ว่าคู่แข่งของเราคือใคร ดังนั้น ใครคิดก่อน ทำก่อน สำเร็จก่อน


“ลองคิดดูว่าโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี่ กับ แอพพลิเคชั่นไลน์เขาไม่ได้เป็นศัตรูกัน แต่พอไลน์ทำเสร็จมีสติ๊กเกอร์ส่งฟรี แบล็คเบอร์รี่เจ๊งเลย สตีฟจ๊อบส์ไม่ได้เป็นศัตรูกับโนเกีย แต่พอคิดไอโฟนขึ้นมา โนเกียเจ๊งเลย เขาไม่ได้ไปทำร้ายอะไรกันนะ เห็นไหม บริษัทโกดักไม่ได้ทะเลาะกับกล้องดิจิทัลแต่พอกล้องดิจิทัลออกมาโกดักเจ๊งเลย เดี๋ยวนี้คำว่าศัตรูมันบอกไม่ได้แล้วนะครับ บางคนต้องขายบ้านขายช่อง ขายบริษัททิ้งเลยนะ ฉะนั้น มันใจเย็นไม่ได้ครับ ต้องสู้ ต้องเร็ว”


ท้ายนี้ จากประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์เรียนหนังสือ ประสบการณ์การทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้พี่เอ้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีด้วยวัยเพียง 43 ปี เป็นคนแรกและคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งด้วยอายุน้อยที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และคุณสมบัติที่เขายอมรับว่ามีอยู่ในตัวเขาเองคือ “อดทน เพียรพยายาม” อันเปรียบเสมือนคาถาความสำเร็จแห่งชีวิต ดังคำที่เขาเชื่ออยู่เสมอว่า “อย่าให้อะไรมาจำกัดชีวิตเรา”

พี่เอ้ฝากถึงน้อง ๆ เยาวชน

"ผมอยากให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน คนเราเลือกเกิดไม่ได้ บางครั้งเราอาจจะมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ อาจจะมีฐานะที่ไม่ดี อาจจะอยู่โรงเรียนที่ไม่ได้มีโอกาสเหมือนโรงเรียนดังๆ แต่เรื่องพวกนี้อย่าให้มาจำกัดชีวิตของเรา เพราะมีคนจำนวนอีกไม่น้อยที่เริ่มต้นลำบากกว่าเราด้วยซ้ำ สุดท้ายเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยเหลือประเทศชาติได้มากมาย เพราะฉะนั้นน้องๆ ไม่ได้มีคนเดียวหรอก ยังมีคนอีกมหาศาล


"อยากให้น้องๆ เอาพลังที่เราไม่ค่อยมีโอกาส พลังที่เราเสียโอกาส อย่าเอามาเป็นพลังลบ เอามาเป็นพลังบวก ผลักดันให้เราต่อสู้มากยิ่งขึ้น เหนื่อยมากยิ่งขึ้น พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นธรรมกับทุกคน ถ้าเกิดไม่ได้ให้สิ่งนี้เรา ก็ต้องให้สิ่งอื่นเรามา เราอาจจะไม่ได้ร่ำรวยแต่เราอาจจะแข็งแรง เพราะฉะนั้น เราอาจจะไม่มีทักษะบางอย่าง แต่เรากลับมีทักษะบางอย่างซึ่งวิเศษมากก็ได้ มันเท่าเทียม ขอให้น้องๆ ค้นพบพลังวิเศษนี้ของตัวเอง และพี่เอ้เชื่อว่าทุกคนมีพลังวิเศษของตัวเอง มุ่งมั่นไปแล้วอย่าท้อ แพ้แล้วก็สู้อย่างพี่เอ้สอบโทเฟลตั้งสิบสี่ครั้ง


"อยากให้ทุกคนคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด ครูสอนภาษาอังกฤษก็ยังเป็นคนที่รวยที่สุดได้ อย่างแจ๊ค หม่า ฉะนั้นทุกอาชีพมีความวิเศษของมันในตัว ค้นหาให้เจอแล้วภูมิใจในอาชีพนั้น ไม่มีวิชาชีพใดด้อยกว่ากัน ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นพยาบาล แต่อาจจะดังกว่าหมอทุกคนบนโลกเลย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ก็ดังกว่าวิศวะทุกคนบนโลกนี้ ฉะนั้นจงภูมิในกับสิ่งที่ตัวเองวาดฝันไว้ จงภูมิใจในสาขาที่ตัวเองเป็น แล้วจะประสบความสำเร็จทุกอย่างครับ"


ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม “ขอให้น้อง ๆ เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ”


ดู 932 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentare


เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page