top of page
รูปภาพนักเขียนครอบครัวพอเพียง

พุทธศาสนาในมุมมอง รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม

ถ้าพูดถึงพระพุทธศาสนา สิ่งแรกที่ควรพูดถึงคือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ด้วยเพราะพระพุทธศาสนาเป็นผลซึ่งเกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คำถามต่อมาคือ “พระพุทธเจ้ารู้อะไร” หากแปลตามความหมาย ตรัสรู้ หมายความว่า “รู้” แต่คำว่ารู้ในคำว่าตรัสรู้ไม่เหมือนความรู้ของคนทั่วไป เพราะการรู้ของคนทั่วไปคือ รู้จากตาเห็น รู้จากหูฟัง รู้จากความคิด ตามผัสสะด้านต่างๆ เท่านั้น

ถ้าเห็นด้วยจิตที่มีญาณ จิตที่บริสุทธิ์ มันรู้หมด หมายความว่า เห็นหมดทุกส่วน ทุกมิติของสิ่งนั้น นี่คือเรียกว่า 'รู้แบบตรัสรู้' การตรัสรู้จึงพูดง่ายๆ ว่ารู้จริง ความรู้ของพระพุทธเจ้าท่านรู้สิ่งต่างๆ ตามที่มันมี ตามที่มันเป็น

รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัย อธิบายว่า การรู้ที่เรียกว่า “ตรัสรู้” เป็นการรู้จากการที่คนๆ หนึ่งฝึกฝนและพัฒนาจิตใจของตนเองจนกระทั่งจิตมีความนิ่ง มีความสงบที่เรียกว่าสมาธิ จนเกิดพลังรู้หรือพลังปัญญา พลังรู้และพลังปัญญาเกิดจากจิตสงบและบริสุทธิ์ ตามพระพุทธศาสนาเรียกว่า “ญาณ” ซึ่งหมายถึงปัญญานั่นเอง แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตมีญาณ จึงสามารถจะใช้ญาณหรือใช้ปัญญาตัวนี้ – รู้ หรือว่าเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องชัดเจน หรือเรียกง่ายๆ ว่า “รู้จริง”


“รู้จริงหมายความว่า รู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาพหรือตามธรรมชาติที่มันเป็น มันมียังไงก็เห็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างไรก็เห็นอย่างนั้น เรียกว่ารู้จริง เพราะว่าบางทีการรู้อย่างที่คนทั่วไปบอกว่าเรารู้ เช่น รู้ด้วยตามอง บางทีมันมองเห็นไม่รอบด้าน มองเท่าที่ตาเห็น อาจจะมีอีกหลายส่วนของสิ่งนั้นที่เราไม่เห็น แล้วที่เราไม่เห็นจะรู้ได้ไง มันก็ไม่รู้ใช่ไหม ฉะนั้นการเห็นด้วยตามันยังรู้ไม่จริง ยังรู้ไม่หมด


“แต่ถ้าเห็นด้วยจิตที่มีญาณ จิตที่บริสุทธิ์ มันรู้หมด หมายความว่า เห็นหมดทุกส่วน ทุกมิติ ของสิ่งนั้น นี่คือเรียกว่า “รู้แบบตรัสรู้” การตรัสรู้จึงพูดง่ายๆ ว่ารู้จริง ความรู้ของพระพุทธเจ้าท่านรู้สิ่งต่างๆ ตามที่มันมี ตามที่มันเป็น


“แล้วผลจากการรู้ของท่าน ทำให้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สิ่งที่มันมีหรือสิ่งที่มันจริง บางอย่างก็มีประโยชน์ บางอย่างก็ไม่มีประโยชน์ (แม้ว่ามันจะจริง) อันนี้ไม่มีใครพูด พระพุทธเจ้าพูด ท่านจึงรู้ว่าความจริงหรือสิ่งที่มันมีอยู่ เรียกว่ามีความจริงอยู่ 2 แบบ คือ ความจริงบางอย่างก็มีประโยชน์ ความจริงบางอย่างก็ไม่มีประโยชน์ แต่ท่านก็เห็น ท่านก็รู้ว่าความจริงมันมีอะไรบ้าง ความจริงแบบไหนมีประโยชน์ แบบไหนไม่มีประโยชน์ แล้วท่านจึงเลือกเอาความจริงที่มีประโยชน์เอามาสอนชาวโลก กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา ส่วนความจริงที่ไม่มีประโยชน์ท่านไม่สอน ท่านเลือกสอนเฉพาะความจริงที่มีประโยชน์ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญของพระพุทธศาสนา


“ถ้าพูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์เท่านั้น’ เพราะว่าความจริงที่ไม่มีประโยชน์ท่านไม่พูด ถึงมีคนมาถามท่าน ท่านรู้ ท่านก็ไม่พูด เพราะพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ อันนี้คือประเด็กแรกที่ควรจะเข้าใจ”

คำสอนในพระไตรปิฎกเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

“สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอน,บรรดาสาวกทั้งหลายที่ได้รับการสอนจากท่านก็ช่วยกันจำไว้ เริ่มต้นจากจำไว้ก่อน ต่อมาจึงมาจัดให้เป็นระบบ มีการรวบรวม หมายความว่า เวลาจำอาจจำกันหลายคน คนนี้จำส่วนนี้ คนนี้จำส่วนนั้น ต่างคนต่างจำ ก็ยังไม่มีการเอามารวมกัน จนมีจังหวะของการที่นำเอาสิ่งที่จำได้ เรียกว่า พุทธานุสรณ์ (การน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า) คือเอาคำสอนมารวมกัน ภาษาพุทธศาสนาเรียกว่า ‘สังคายนา’ คือการรวมบรรดาสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้ามาประชุมร่วมกัน มาเล่าให้กันฟังว่า ใครรู้อะไรจากพระพุทธเจ้าบ้าง ใครจำอะไรจากพระพุทธเจ้าได้บ้าง แล้วก็เอามาจัดให้เป็นระบบ เพื่อที่จะได้จำต่อไปได้ง่าย


“จากการจัดให้เป็นระบบนี้เรียกว่า ‘สังคีติ’ หรือสังคายนา คือการจัดคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเท่าที่ลูกศิษย์จำกันได้ มาจัดให้เป็นระบบ


“จากสิ่งที่จัดให้เป็นระบบในการสังคายนาครั้งที่ 1 ก็จำต่อกันมาจนกระทั่งมาถึง 450 ปี หลังจากพระพุทธเจ้านิพพาน จึงมีการจารึกสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ตามที่ได้สังคายนากันไว้ มาเป็นคัมภีร์ จึงก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘พระไตรปิฎก’ ขึ้น คำว่าพระไตรปิฎกเริ่มมีมาแล้วหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานมาแล้ว 200 ปี ก่อนหน้านั้นยังไม่มีคำว่าพระไตรปิฎก แต่เรียกว่า ธรรมวินัย มาจนกระทั่งสังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 200 จึงมีคำว่า ไตรปิฎก เพราะว่ามีการจัดระบบ คำสอนของพระพุทธเจ้า เท่าที่จัดและจำมา 200 ปี จัดเป็น 3 ปิฎก (ตระกร้า) แต่ก่อนยังไม่เรียกว่า ปิฎก แต่เรียกว่า นิกายทั้ง 5” (ทีฆนิกาย,มัชฌิมนิกาย,สังยุตตนิกาย,อังคุตรนิกาย,ขุททกนิกาย)

จารึกคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นตัวอักษรครั้งแรก ?

“แล้วต่อมาอีก 200 กว่าปี ได้มีการจารึกเป็นตัวอักษร เริ่มต้นจากการสังคายนาจัดระบบก่อน จัดระบบครั้งแรกเรียกว่า 5 นิกาย (ปัญจนิกาย) ต่อมา 200 กว่าปี จึงมีการจัดระบบใหม่เรียกว่า ไตรปิฎก แล้วอีก 200 กว่าปี จึงมีการจารึกเป็นตัวอักษร จึงเกิดคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้น นี่คือความหมายของคำว่า ไตรปิฎก


“ในพระไตรปิฎกเราพูดกันสั้นๆ ว่า เป็นการจารึกหรือรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ความจริงคือ สิ่งที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ยังรวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น เรื่องที่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎกด้วย เพราะว่า เป็นเรื่องที่บางทีมีคนอื่นเอามาเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง เช่น บางคนอาจจะมาถามพระพุทธเจ้าว่า อาจารย์คนนี้สอนอย่างนี้จริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าท่านก็จะตอบว่า จริงหรือไม่จริง ฉะนั้น จึงมีคำสอนของผู้อื่นถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกด้วย


“เรื่องราวในพระไตรปิฎกมีเยอะ คำสอนของคนศาสนาอื่น คำสอนของเทวดา คำสอนของฤๅษี รวมไปถึงคำสอนของพระสาวกบางองค์ด้วย ก็ถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า บรรดาเรื่องทั้งหลายถ้าเราจะดูในรายละเอียดก็ยังมีอีกเยอะเลย เรื่องที่ไม่ใช่คำสอนก็มี เป็นประวัติบุคคล ประวัติสถานที่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ฉะนั้นจึงมีเรื่องราวมากมายในพระไตรปิฎก"


พระไตรปิฎกไม่ได้มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ?

“พอเราอ่านพระไตรปิฎกจะเห็นว่ามีเรื่องแปลกๆ บางทีอาจจะมีบางคนเวลามาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็อาจจะมาเล่าเรื่องให้พระพุทธเจ้าฟังว่า เห็นคนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มาถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ทำแล้วมันผิดหรือมันถูกยังไง เรื่องเหล่านี้ถูกบันทึกไว้


“เรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามีอยู่หลายลักษณะ บางเรื่องเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านสอนลูกศิษย์ สอนสาวก ไม่ต้องมีใครมาพูด ไม่ต้องมีใครมาถาม เพียงแต่ว่าท่านแนะนำ สอนศิษย์ที่เป็นพระเป็นเณรบ้าง สอนศิษย์ที่เป็นชาวบ้านบ้าง


“แต่บางเรื่องอาจมีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า เรื่องนี้เห็นว่ายังไง หรือบางคนอาจจะเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เขาได้พบได้เห็นมาถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็อธิบาย หรือบางทีบางคนอาจจะถามว่า มีบางคนเขาพูดถึงพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างนี้ จริงรึเปล่า ฉะนั้นจึงมีเรื่องหลากหลาย


“แล้ววิธีการบันทึก วิธีการจด วิธีการจำคำสอน ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน พอเราอ่านพระไตรปิฎกเราจะเห็นว่า เขาไม่ได้จำเฉพาะธรรมะ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า จำเรื่องราวด้วย จำว่าพระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่ที่ไหน ท่านคุยกับใคร สอนเรื่องอะไร พอท่านสอนแล้ว คนรับการสอนเกิดอะไรขึ้น มันจึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘สูตรในพระไตรปิฎก’


“พระสูตรคือเรื่องราวแต่ละเรื่อง ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า โดยมีการบอกไว้เสร็จเรียบร้อยว่า สูตรนี้ หรือเรื่องราวเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พูดกับใคร สอนกับใคร สอนว่ายังไง สอนแล้วเกิดผลตามมาอย่างไร ฉะนั้น ถ้าเราเป็นคนสนใจอ่านพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่า ยิ่งอ่านยิ่งสนุก เพราะได้รู้เรื่องแปลกๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีเรื่องเหล่านั้นอยู่ เพราะมันเป็นเรื่องของคน ไม่ว่าคนยุคไหนมันก็คือคนเหมือนกัน (หัวเราะ) มีเรื่องราวมีปัญหาเหมือนกัน


“เพียงแต่ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่พระพุทธเจ้าท่านให้คำแนะนำเพื่อการแก้ปัญหาด้วย”

กล่าวได้ไหม ว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ยึดที่ตัวศาสดา ?

“ประเด็นแรกคือว่า ขึ้นชื่อว่าศาสนาทุกศาสนาต้องมีศาสดา หรือมีครูอาจารย์ผู้สอนด้วยกันทั้งนั้น พุทธศาสนาก็เหมือนกัน พุทธศาสนาที่เป็นศาสนาขึ้นมาได้ก็เพราะมีศาสดาหรือมีผู้สอน คือ พระพุทธเจ้า โดยลักษณะของคนที่เป็นชาวพุทธก็ต้องยอมรับนับถือ 3 สิ่ง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ หรือ เป็นคนที่นับถือพระพุทธศาสนา สิ่งแรกที่ต้องยอมรับนับถือก็คือ ตัวพระพุทธเจ้า คือตัวครูและตัวศาสดา สิ่งที่สอง คือ ยอมรับและนับถือสิ่งที่ศาสดาสอน คือ ธรรมะ หรือคำสอน ธรรมมะคือความจริงที่ศาสดาเป็นผู้สอน สิ่งที่สาม คือ ยอมรับและนับถือ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสดา จนกระทั่งได้ประจักษ์ความจริง ที่เรียกว่า ได้บรรลุธรรม ถึงธรรม และเรียกว่าเป็นผู้ประจักษ์ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ได้แก่ พระสงฆ์ อันนี้เรียกว่าลักษณะของการยอมรับนับถือ


“แม้แต่ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนนับถือศาสนานั้นๆ ก็ต้องยอมรับศาสดา ยอมรับหลักคำสอน คล้ายกับพระพุทธศาสนา ถือว่าการยอมรับนับถือทั้ง 3 สิ่งที่ว่า ก็เป็นหลักอันหนึ่งของผู้ที่นับถือศาสนา ถ้าเป็นศาสนาอื่นก็ยอมรับนับถือสิ่งที่เขาถือว่าสำคัญในศาสนานั้นๆ คือลักษณะที่เรียกว่ายอมรับนับถือ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า ‘ถือ’ เราถือพระพุทธเจ้า ถือพระธรรม ถือพระสงค์ เป็นสิ่งเคารพ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ


“แต่ในกรณีของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านสอน ก่อนที่ท่านจะปรินิพพาน หรือก่อนที่ท่านจะตาย ท่านสอนว่า ‘เมื่อไม่มีท่านอยู่แล้ว ให้ชาวพุทธนับถือธรรมะที่ท่านสอนเป็นศาสดาเหมือนกับเคยนับถือท่าน’ ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่มีการตั้งประมุขของศาสนาสืบต่อจากพระพุทธเจ้า ไม่เหมือนศาสนาอื่น จึงจะมีประมุขของศาสนา เป็นตัวแทนของศาสดาที่เคยมี พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าธรรมะที่ท่านสอน คือสิ่งที่จะเป็นศาสดาของชาวพุทธต่อไป หมายความว่า ไม่ต้องไปนับถือคนอื่น ให้นับถือธรรมะหรือสิ่งที่ท่านสอนเป็นผู้สอนที่แท้จริงหรือเป็นศาสดาตัวจริง”

ใช่หรือไม่ว่า ผู้ที่สอน หรือคำสอนที่แท้จริง ก็คือ ธรรมชาติ หรือ ตัวความจริง ที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบและบอกต่อ ?

“ถ้าเราจะวิเคราะห์หรือตีความ ก็หมายความว่า ผู้ที่ให้คำสอน หรือผู้ที่สอนเราแท้จริง คือ ตัวความจริง คือ ถึงไม่มีศาสดา ไม่มีผู้สอน ถ้าเรามีสติปัญญาพอ ก็สามารถเข้าใจความจริงเข้าใจธรรมะได้ เพราะความจริงธรรมะก็คือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพียงแต่เราจะรู้หรือเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าท่านตรัสรู้ คือท่านก็รู้สิ่งที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ท่านรู้ท่านเห็นด้วยปัญญาของท่าน ท่านจึงนำสิ่งที่ท่านรู้ท่านเห็นตามธรรมชาติมาบอกคนอื่น ฉะนั้น สิ่งที่ท่านบอกไม่ใช่สิ่งที่ท่านสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ท่านกำหนดขึ้น


“หมายความว่า ผู้ที่สอนเราอย่างแท้จริงก็คือธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ จะได้ยินเสียงธรรมชาติไหม มองเห็นตัวธรรมชาติไหม คนทั่วไปสติปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะรู้เองเห็นเอง จึงต้องอาศัยผู้อื่นช่วยบอก


“ศาสดาเป็นเพียงผู้บอก เหมือนกับเป็นตัวกลางระหว่าง ธรรมชาติ กับ ชาวโลก ท่านอยู่ตรงกลาง ท่านเป็นคนเห็นแล้วนำมาบอก พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ‘ครูของเราคือธรรมชาติ’ เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นเข้าใจหรือไม่เท่านั้น


“ยกตัวอย่าง สิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าทุกข์ มันก็อยู่ในธรรมชาตินั่นแหละ ทุกข์คืออะไร ความแก่ แก่คืออะไร ใครไปสร้างไปสั่งให้มันแก่รึเปล่า มันเป็นไปตามธรรมชาติใช่ไหม ความแก่ ความตาย ความผิดหวัง ความเสียใจ มันเป็นธรรมชาติทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นว่ามันเป็นทุกข์รึเปล่า ในขณะที่เรามองไม่เห็นหรือเราไม่เข้าใจ สิ่งเหล่านี้มันมีรึเปล่า มันก็มีใช่ไหม นั่นเป็นข้อที่น่าคิดว่าทำไมท่านจึงบอกว่า ‘ความจริงนั่นแหละ คือศาสดา’ ความจริงคือผู้สอน


“และทำนองเดียวกัน แม้จะมีคนสอน แม้จะมีครูสอนเรา เช่น ครูก็เอาความจริงมาบอกเรา แต่บางทีแม้ครูสอนเราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เข้าใจ เราก็ไม่เชื่อ เราก็ไม่เห็น ก็เหมือนกัน ความจริงก็มีอยู่ทุกที่ แต่เราก็ยังมองไม่เห็น ไม่เข้าใจความจริง มันก็คล้ายๆ กัน


“แสดงว่าถ้าเป็นคนมีปัญญา แม้ไม่มีคนสอนก็สามารถรู้ความจริง เข้าถึงความจริงได้ แต่บังเอิญคนทั่วไปปัญญาน้อย ปัญญาต่ำ จึงมองไม่เห็นความจริงที่มีให้เราเห็นอยู่ทุกที่ทุกเวลา ต้องอาศัยคนที่รู้ความจริงมองเห็นความจริงมาช่วยชี้”

เรื่องบาปบุญเป็นเรื่องธรรมชาติด้วยรึเปล่า ?

“เรื่องบาปบุญเป็นเรื่องธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เป็นคนกำหนด เพียงแต่ว่าคำว่าบาป คำว่าบุญ เป็นภาษาที่มนุษย์เป็นคนสร้างขึ้นมาเพื่อจะถ่ายทอดความจริงเท่านั้น ความจริงที่ท่านเรียกว่าบุญเรียกว่าบาปก็เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ากำหนดว่าอันนี้เป็นบุญอันนี้เป็นบาป เพียงแต่ท่านเห็นว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป อะไรดีอะไรชั่วแล้วท่านก็มาบอกให้เรารู้


“บุญบาป ดีชั่ว ที่ปรากฏอยู่ในคำสอน ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านกำหนดขึ้นมาเอง หรือสร้างขึ้นมา หรือบังคับมัน ท่านเพียงเป็นผู้เห็นมัน แล้วก็เอามาบอกว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป พร้อมทั้งบอกให้เราทราบว่าบุญเกิดขึ้นได้ยังไง บาปมันเกิดขึ้นได้ยังไง บุญหรือบาปในเมื่อมันเกิดขึ้นในชีวิตจะส่งผลยังไง แล้วมันทำอะไรให้แก่ชีวิต แล้วทำให้ชีวิตเกิดอะไรขึ้น ท่านบอกให้เราทราบเท่านั้น


“ถ้าเราไปดูในบางศาสนา จะเห็นว่าต่างไปจากที่พระพุทธเจ้าท่านสอน บุญบาปมาจากพระเจ้าเป็นผู้กำหนด อาจจะเข้าใจต่างกัน เพราะบุญบาปก็สอนกันทุกศาสนา เช่น บางสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นบุญ ศาสนาอื่นอาจจะบอกว่าเป็นบาปก็ได้ หรือบางอย่างที่ศาสนาอื่นสอนว่าเป็นบาป พระพุทธเจ้าท่านอาจจะบอกว่าเป็นบุญก็ได้ อาจจะไม่ตรงกันบ้าง


“คนทั่วไปอาจจะสับสนแยกไม่ออก ว่าของใครเป็นของใคร หรือใครสอนว่ายังไง เพียงแค่ไปเจอคำที่มันเหมือนกัน หรือคำเดียวกัน ก็คิดว่ามันคงเหมือนกันอันเดียวซึ่งไม่ใช่ อันนี้เป็นเรื่องของผู้นับถือหรือผู้ที่ศึกษาเรียนรู้จะทำความเข้าใจ”


พระพุทธเจ้าเป็นผู้ได้ชื่อว่าไม่ลบล้างความคิดใคร แม้ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด ?

“ท่านบอกตรงๆ ว่า ใครจะเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไรก็เรื่องของเขา ท่านไม่เกี่ยว หน้าที่ของท่านคือเอาความจริงตามที่ท่านรู้มาบอกให้คนอื่นทราบเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่ท่านนำมาบอกให้แก่คนทั้งหลายทราบ บอกแล้วคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อท่านก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ไม่ได้ไปบังคับ จะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้สุดแล้วแต่สติปัญญาของเขา ท่านไม่บังคับให้ใครเชื่อ”

ดู 633 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


เพลง ครอบครัวพอเพียง
00:00 / 02:09
bottom of page